เมนู

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [4. ราชวรรค] 5. โพธิราชกุมารสูตร

“ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะไม้ยังสดและมียาง แม้จะวางอยู่บนบกห่าง
จากน้ำ บุรุษนั้นก็มีแต่ความเหน็ดเหนื่อยลำบากเปล่า”
“ราชกุมาร อย่างนั้นเหมือนกัน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง
แม้มีกายและจิตหลีกออกจากกามแล้ว แต่ยังมีความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง
ความกระหาย และความกระวนกระวายในกามทั้งหลาย ยังมิได้ละและมิได้ระงับ
อย่างเบ็ดเสร็จในภายใน สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้นแม้เสวยทุกขเวทนา
ที่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้
การเห็น และการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม แม้ไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ
เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ไม่ควรแก่การรู้ การเห็น และการ
ตรัสรู้อันยอดเยี่ยม
นี้เป็นอุปมาข้อที่ 2 อันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งอาตมภาพยังไม่เคยได้ยิน
มาก่อน ได้ปรากฏแก่อาตมภาพ
[331] 3. เปรียบเหมือนไม้ที่แห้งสนิทซึ่งวางอยู่บนบกห่างจากน้ำ บุรุษนำมา
ทำเป็นไม้สีไฟด้วยหวังว่า ‘เราจักก่อไฟให้เกิดความร้อนขึ้น’
ราชกุมาร พระองค์เข้าพระทัยความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นนำไม้ที่แห้งสนิท
ซึ่งวางอยู่บนบกห่างจากน้ำมาทำเป็นไม้สีไฟ แล้วสีให้เป็นไฟเกิดความร้อนขึ้นได้ไหม”
“ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะไม้แห้งสนิท ทั้งวางอยู่บนบกห่างจากน้ำ”
“ราชกุมาร อย่างนั้นเหมือนกัน สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งมีกาย
และจิตหลีกออกจากกามแล้ว ทั้งละและระงับความพอใจ ความรักใคร่ ความหลง
ความกระหาย และความกระวนกระวายในกามทั้งหลายได้อย่างเบ็ดเสร็จในภายในแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :400 }


พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ [4. ราชวรรค] 5. โพธิราชกุมารสูตร

สมณะหรือพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น แม้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน
ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความเพียร ก็เป็นผู้ควรแก่การรู้ การเห็น และการตรัสรู้อัน
ยอดเยี่ยม แม้ไม่ได้เสวยทุกขเวทนาที่กล้าแข็ง หยาบ เผ็ดร้อน ซึ่งเกิดขึ้นเพราะ
ความเพียร ก็เป็นผู้ควรแก่การรู้ การเห็น และการตรัสรู้อันยอดเยี่ยม
นี้เป็นอุปมาข้อที่ 3 อันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งอาตมภาพยังไม่เคยได้ยินมาก่อน
ได้ปรากฏแก่อาตมภาพ
ราชกุมาร นี้คืออุปมา 3 ข้ออันน่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ซึ่งอาตมภาพยังไม่เคยได้
ยินมาก่อน ได้ปรากฏแก่อาตมภาพ

ทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยา

[332] ราชกุมาร อาตมภาพนั้นมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรกดฟัน
ด้วยฟัน ใช้ลิ้นดันเพดานไว้แน่น ใช้จิตข่มคั้นจิต ทำจิตให้เร่าร้อน’ อาตมภาพนั้น
ก็กดฟันด้วยฟัน ใช้ลิ้นดันเพดานไว้แน่น ใช้จิตข่มคั้นจิต ทำจิตให้เร่าร้อน เมื่อ
อาตมภาพทำดังนั้น เหงื่อก็ไหลออกจากรักแร้ทั้ง 2 ข้าง คนที่แข็งแรงจับคนที่
อ่อนแอกว่าที่ศีรษะหรือที่คอ แล้วบีบคั้นรัดไว้ให้แน่น แม้ฉันใด อาตมภาพก็ฉันนั้น
เหมือนกัน เมื่อกดฟันด้วยฟัน ใช้ลิ้นดันเพดานไว้แน่น ใช้จิตข่มคั้นจิต ทำจิตให้
เร่าร้อน เหงื่อก็ไหลออกจากรักแร้ทั้ง 2 ข้าง
อาตมภาพปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน มีสติตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน แต่เมื่อ
อาตมภาพถูกความเพียรที่ทนได้ยากนั้นเสียดแทงอยู่ กายของอาตมภาพก็กระวนกระวาย
ไม่สงบระงับ
[333] ราชกุมาร อาตมภาพจึงมีความดำริว่า ‘ทางที่ดี เราควรบำเพ็ญฌาน
อันไม่มีลมปราณเถิด’ อาตมภาพก็กลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทั้งทางปาก
และทางจมูก เมื่ออาตมภาพกลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทั้งทางปากและ
ทางจมูก ลมก็ออกทางหูทั้ง 2 ข้าง มีเสียงดังอู้ ๆ ลมที่ช่างทองสูบอยู่มีเสียงดังอู้ ๆ
แม้ฉันใด เมื่ออาตมภาพกลั้นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ทั้งทางปากและ
ทางจมูก ลมก็ออกทางหูทั้ง 2 ข้าง มีเสียงดังอู้ ๆ ฉันนั้นเหมือนกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 13 หน้า :401 }